ตาขี้เกียจ
ตาขี้เกียจ (Amblyopia) เป็นยังไงมาดูกัน
มาจากคำว่า amblyos ภาษากรีก หมายถึง มืดมัว และคำว่า opia หมายถึง สายตา amblyos + opia รวมกันจึงหมายความว่า ภาวะสายตามัว ซึ่งอาจเป็นตาข้างเดียวหรือสองข้าง ส่วนมากมักเป็นตาข้างเดียว โดยไม่พบผิดปกติหรือโรคที่เป็นสาเหตุ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือภาวะตามัวทั้งๆ ที่ส่วนของตาที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นเป็นปกติดีทุกอย่าง ในภาษาอังกฤษเรียกว่า lazy eye หมายถึง ไม่เป็นอะไรหรือแม้ว่าจะพบสาเหตุและแก้ไขแล้ว แต่ตาก็ยังมองไม่เห็น
อุบัติการ
อุบัติการของภาวะนี้ พบได้ในประชากรวัยเด็กที่มีอายุระหว่าง 2-3 ปี ถึงร้อยละ 2.0 ถึง 2.5 และจะลดลงไปเรื่อยๆ จนมีอายุ 6-7 ปี
การพัฒนาการเห็น
เด็กแรกเกิดถึงจะมีดวงตาปกติแล้ว แต่ก็ยังมองเห็นไม่ชัดเจน การพัฒนาการมองเห็นจะเริ่มตั้งแต่เกิด จนสายตาเห็นชัดเท่าผู้ใหญ่เมื่ออายุประมาณ 6-7 ปี พอเด็กเริ่มลืมตาจะมีแสงสว่างกระทบตาผ่านส่วนต่างๆ
ไปถึงจอตา ที่จอตามีเซลล์ประสาทรับรู้การเห็นจะส่งสัญญาณไปยังสมองส่วนรับรู้การเห็นทำให้เด็กค่อยๆ เห็นมากขึ้น ช่วงที่มีการพัฒนาสูงสุดในอายุ 2-3 ปีแรก หากในช่วงนี้มีสิ่งกีดขวางมิให้แสงจากวัตถุไปกระตุ้นจอตาไม่ว่ามาจากสาเหตุใดก็ตาม จอตาก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ นานเข้าก็เลยมิอาจเรียนรู้ แม้เมื่อโตขึ้น จะมารับการรักษาขจัดสาเหตุตามัวออกไป เด็กก็มิอาจกลับมาเห็นได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เคยทดลองในแมว และลิงโดยเย็บหนังตาข้างหนึ่งให้ปิดไว้ตั้งแต่แรกเกิดผลปรากฏว่าตาของแมว และลิงข้างนั้นจะบอด เป็นการพิสูจน์ภาวะนี้
การพัฒนาการเห็นของคนเรานั้นจะสมบูรณ์ที่สุดหรือมีสายตาปกติ ต่อเมื่อตาทั้ง 2 ข้างมองเห็นได้ชัด การจะเห็นได้ชัดนั้นตาแต่ละข้างต้องมีกำลังหักของแสงจากกระจกตาและแก้วตาได้ สมดุลกับความยาวของลูกตา นอกจากนี้ต้องมีตัวกลางที่แสงผ่านเข้าไปในตาใสปกติ นั่นคือไม่มีโรคภายในตา มีจอประสาทตาและประสาทตาตลอดจนสมองที่รับรู้การเห็นได้ดี การที่ตาของเราจะมีความสามารถสูงสุดในการมองเห็นภาพ แม้ว่าขนาดเล็กๆ เป็น 3 มิติได้ ตาทั้ง 2 ข้างจะต้องมีการทำงานประสานกัน
ภาวะตาขี้เกียจเกิดเฉพาะในเด็กเท่านั้น เพราะเมื่อเกิดการเรียนรู้การเห็นแล้ว หากเมื่อโตขึ้น เกิดมีโรคทำให้สายตามัวลง เมื่อรักษาโรคนั้นหายแล้วแต่ตาก็คงกลับมาเหมือนเดิม ดังนั้น โรคบางอย่างถ้าเกิดในผู้ใหญ่ยังพอจะรอได้ แต่ถ้าเกิดในเด็กแรกเกิดรอไม่ได้เพราะเด็กจะเกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้น
สาเหตุ
การวินิจฉัย
ค่อนข้างจะยุ่งยาก เพราะเด็กไม่สามารถบอกได้ว่ามองเห็นหรือไม่ ผู้ปกครองก็ไม่ทราบเพราะเด็กยังมีสายตาที่ดีอีกข้างจึงทำอะไรได้เช่นเด็กปกติ การวินิจฉัยคงต้องเริ่มจากการสังเกตตามสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ เช่นมีประวัติโรคนี้ในครอบครัวหรือมีคนตาเหล่ในครอบครัว หรือมีสายตาผิดปกติที่อาจแสดงออก โดยชอบหรี่ตาเวลามองและดูอะไรมักจะเข้าไปชิด ตลอดจนมีโรคตาบางอย่าง เช่น หนังตาตก โรคต้อกระจก เป็นต้น เมื่อสงสัยควรปรึกษาจักษุแพทย์ซึ่งจะมีวิธีทดสอบสายตา แม้ว่าเด็กจะไม่ร่วมมือและให้การตรวจตาอย่างละเอียด ถ้าพบว่าเด็กมีสายตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ผิดปกติโดยไม่พบโรคอะไรที่เป็นต้นเหตุ
แพทย์อาจต้องตรวจลักษณะบางอย่างซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของภาวะตาขี้เกียจนี้ เช่น สามารถอ่านอักษรที่เป็นตัวเดียวได้ ในขณะที่อ่านอักษรแม้ขนาดเท่ากันแต่อยู่เป็นแถวหลายๆ ตัวไม่ได้ หรือเมื่อใช้เครื่องกรองแสง ทำให้เด็กภาวะนี้มองเห็นได้ดีขึ้น เป็นต้น ถ้าแน่ใจว่าเด็กเริ่มมีภาวะตาขี้เกียจ แพทย์จะตรวจหาสาเหตุที่เกิดร่วมด้วยที่อาจเป็นได้ดังกล่าวข้างต้น และแก้ไขภาวะต่างๆ ก่อน
การแก้ไขและการป้องกัน
เมื่อเกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้นแล้วต้องเริ่มด้วยการแก้ไขต้นเหตุและตามด้วยการกระตุ้นให้ตาที่มัวกลับมาใช้งาน วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การปิดตาข้างที่ดี เพื่อให้ตาข้างที่ไม่ดีทำงานแต่ทางปฏิบัติอาจไม่ง่ายนัก เพราะว่าเด็กมักจะไม่ยอมให้ทำดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มารดาจะต้องพยายาม หรือแพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้ยาหยอดตาบางชนิด ซึ่งทำให้ตาข้างดีพร่ามัว เพื่อว่าเด็กจะได้ใช้ตาข้างที่ไม่ดีทำงานบ้าง โดยทั่วไปภาวะนี้ต้องรักษาตั้งแต่เด็ก หากปล่อยไว้จนอายุถึง 10 ปีค่อยมารักษามักจะไม่ได้ผล
เพื่อป้องกันภาวะเช่นนี้ควรนำเด็กไปตรวจสายตา สมาคมจักษุแพทย์และกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ตรวจตาเด็กเป็นระยะๆ ตั้งแต่แรกคลอด เมื่ออายุ 6 เดือน อายุ 3 ปีหลังจากนั้นควรตรวจทุกๆ ปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี คาดกันว่าในเด็กก่อนวัยเรียน 1 ใน 20 คน จะมีปัญหาทางตา และร้อยละ 2 ปล่อยให้เกิดภาวะตาขี้เกียจซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะเด็กน่าจะมี สายตาที่ดีทั้ง 2 ข้าง แต่กลับต้องเห็นเพียงข้างเดียว ดังนั้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จึงมีสายตาที่ด้อยกว่าผู้อื่น เหตุจำเป็นต้องตรวจวัดสายตาเด็กก่อนวัยเรียน มีดังนี้
ผลของภาวะสายตามัว
ภาวะตาขี้เกียจเป็นเหตุของความบกพร่องทางสายตาอย่างหนึ่ง การเอาใจใส่ของผู้ปกครองทำให้วินิจฉัยได้เร็ว การรักษาก็จะได้ผลดี หากละเลยก็สายเกินแก้ ที่สำคัญก็คือ หากเด็กมีความบกพร่องทางสายตา ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียน โดยเฉพาะการอ่าน การเขียนซี่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง และเมื่อมีตาข้างหนึ่งขี้เกียจเสียแล้ว คุณภาพการมองเห็นจะด้อยกว่าคนอื่น การเลือกอาชีพที่ต้องใช้สายตาที่ละเอียดย่อมทำไม่ได้ เป็นการบั่นทอนศักยภาพของผู้นั้นไป
ที่มา : ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย http://www.rcopt.org/news-public.html